ปรับกลวิธีการสื่อสารทางการตลาด ให้เหมาะกับยุคเทคโนโลยีได้อย่างไร
- ตุลาคม 28, 2013
- Posted by: Parwinee Piyapongpaisarn
- Category: Articles-TH
ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้คนมีความเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตค่อนข้างมาก ด้วยเหตุที่สภาพแวดล้อม สภาพสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนนั้นก็เริ่มปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากชีวิตที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ก็เร่งรีบมากขึ้นจนแทบไม่ค่อยมีเวลาว่าง จากที่เคยรับข่าวสารทางโทรทัศน์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นอุปกรณ์อื่นๆ อย่างมือถือ หรือแทปเล็ตมากขึ้น ด้วยการดำเนินชีวิตของผู้คนที่แตกต่างไปเช่นนี้เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าแผนการตลาดเดิมที่เราใช้อยู่นั้นจะยังใช้ได้ผลอยู่เหมือนอย่างในอดีต ดังนั้นเพื่อให้การตลาดส่งผลดังคาดกับลูกค้ายุคใหม่แล้ว ก็ถึงเวลาแล้วล่ะที่จะปรับเปลี่ยนแผนการตลาดให้เหมาะสมกับพฤติกรรมลูกค้า และวิถีชีวิตลูกค้ายุคใหม่ให้ได้มากขึ้น โดยหัวข้อต่อไปนี้คือพฤติกรรมของผู้คนยุคใหม่พร้อมทั้งวิธีการรับมือพวกเขาให้อยู่หมัดได้อย่างไรบ้าง
แบบ A.ผู้คนต้องการ Multimedia มากกว่า
พฤติกรรมคนสมัยใหม่
มีผลการสำรวจนั้นพบว่าช่องทางสื่อสารกับลูกค้าที่ใช้ Multimedia นั้นมีผลการตอบรับจากผู้ที่เข้ามาชมและใช้เวลาอยู่บนหน้าเว็บนั้นมากกว่าแบบที่มีตัวอักษรอย่างเดียวมากถึง 77% อีกทั้ง Blog ที่มี Video ให้ก็จะได้รับความสนใจได้มากกว่าแบบที่มีแต่ตัวอักษรมากถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ซึ่ง 2 ตัวอย่างนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมผู้คนที่เปลี่ยนไปจากที่สนใจในการอ่าน ก็เปลี่ยนเป็นสื่อชนิดอื่นๆ เช่น วิดีโอ หรือคลิปเสียงมากกว่าการอ่านไปแล้ว
รับมืออย่างไร กับแบบ A
ในเมื่อเรารู้ความต้องการของลูกค้าสมัยใหม่กันแล้วว่าไม่ชอบสื่อที่มีแต่ตัวหนังสือมากมาย ดังนั้นการรับมือก็เพียงแค่เน้นใช้สื่อในรูปแบบ Multimedia ให้มากขึ้น จากตัวหนังสือที่ดูน่าเบื่อก็ลองเปลี่ยนวิธีเป็นใช้รูปแบบของวิดีโอในการเล่าเรื่อง โดยใช้การนำเสนอมากกว่าที่จะนั่งอธิบายยืดยาวให้น่าเบื่อ ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นก็ให้สาธิตผ่านทางวิดีโอเลยว่าสินค้าชนิดนี้ดีอย่างไร และจะช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ยังไงบ้าง
แบบ B.คนอ่านข้อมูลน้อยลง
พฤติกรรมคนสมัยใหม่
ผลสำรวจเรื่องการอ่านพบว่ากว่า 79% ของผู้คนที่อ่านข้อมูลบนเว็บไซต์นั้นยอมรับว่าเป็นการอ่านไล่สายตาแบบผ่านๆ แทนที่จะเป็นการอ่านแบบตั้งใจอ่านทีละคำแบบเมื่อก่อน อีกทั้งค่าเฉลี่ยของจำนวนคำที่ผ่านตาประชากรอเมริกันในแต่ละวันนั้นอยู่ที่ 100,500 คำ ซึ่งอาจเป็นเพราะการใช้ชีวิตที่เร่งรีบจนแทบไม่เหลือเวลาในการทำอย่างอื่น เช่น การรับข้อมูลข่าสารต่างๆ เลยเป็นผลให้ข้อมูลของเราที่เป็นหนึ่งในข้อมูลที่อยู่ในคลังขนาดใหญ่ที่อาจไม่เคยได้รับความสนใจอะไรมากมาย และอาจมีค่าแค่ถูกมองผ่านไปโดยไม่ได้เข้าไปในความทรงจำของกลุ่มลูกค้าเลยก็ว่าได้
รับมืออย่างไร
อย่าให้ข้อมูลของเราเป็นแค่เพียงข้อความผ่านตาลูกค้าไปโดยไม่มีความหมาย ซึ่งเราสามารถทำได้โดยปรับคอนเทนท์ให้สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนที่ผ่านมาเห็นให้ได้ โดยเฉพาะหัวข้อ และการพาดหัวก็ต้องพร้อมที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ที่พบเห็นได้ภายในเวลาไม่นานโดยการใช้เพียงไม่กี่ประโยคเท่านั้น เพราะเมื่อหัวข้อนั้นสามารถดึงความสนใจลูกค้ามาได้แล้วพวกเขาก็พร้อมที่จะอ่านเนื้อหาและรายละเอียดของสารที่เราต้องการจะส่งให้ได้เอง ซึ่งทั้งนี้เราอาจจะใช้หัวข้อที่เป็นตัวหนา หรือขีดเส้นใต้เข้ามาช่วยก็ได้
ในส่วนของเนื้อหานั้นก็ควรที่จะปรับคัดเอาเฉพาะเนื้อหาใจความสำคัญที่เราต้องการจะสื่อไปถึงลูกค้าจริงๆ โดยหลักการคือต้องสั้นที่สุด แต่ได้ใจความที่สุดเช่นกัน เพื่อป้องการการอ่านข้อมูลข้ามๆ ไปอย่างเร่งรีบโดยที่ไม่รู้ว่าจุดไหนคือใจความสำคัญจนสุดท้ายลูกค้าก็จะไม่ได้รับสารที่เราส่งให้เลย
แบบ C.การตลาดที่มากเกินพอดี
พฤติกรรมคนสมัยใหม่
5.3 ล้านล้าน คือจำนวนของโฆษณาทั้งหมดของปี 2012 ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากๆ ส่งผลให้ผู้คนนั้นได้รับสารทางการตลาดเฉลี่ยทั้งหมดวันละประมาณ 5,000 ชิ้นต่อวันเลยทีเดียว ด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่บรรดาผู้คนจะเริ่มเอียนกับสารทางการตลาดที่ได้รับไปเสียก่อน ทำให้จากการใช้วิธีดั้งเดิมที่พยายามปล่อยโฆษณาออกมาให้ได้มากๆ หลายๆ ช่องทางซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้นั้น อาจส่งผลไปในทางตรงข้ามนั่นก็คือผู้คนเกิดความรำคาญกับแบรนด์จนเกิดทัศนคติที่ไม่ดีไปเลยก็ได้
รับมืออย่างไร
พยายามควบคุมปริมาณของข่าวสารทางการตลาดของเราให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ อย่าให้มากจนเกินไปจนผู้ที่พบเห็นเกิดความรำคาญ แต่เพื่อให้ลูกค้ายังสามารถจดจำแบรนด์ของเราได้อยู่หมือนเดิมนั้น ก็สามารถทำได้โดยอาศัยหลักของนักเขียนนิยายที่ทำให้ตัวละครเป็นที่จดจำแม้ว่าจะอ่านจบก็ยังสามารถจดจำชื่อและลักษณะของตัวละครได้อยู่ ซึ่งหลักการของแบรนด์ก็เช่นกันที่อาจจะต้องอาศัยการเล่าเรื่อง และความเป็นมาที่น่าสนใจเพื่อให้ผู้คนจดจำชื่อและลักษณะของแบรนด์ได้อย่างแม่นยำแทนการใช้วิธีเดิมอย่างการส่งซ้ำๆ
แบบ D.ข้อมูลมากมายกระจัดกระจายบนอินเตอร์เน็ท
พฤติกรรมคนสมัยใหม่
ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ท และสามารถนำข้อมูล ข่าวสารที่ตัวเองอยากนำเสนอขึ้นไปไว้บนอินเตอร์เน็ทได้เอง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ หรือสื่อต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณของข้อมูลที่อยู่บนอินเตอร์เน็ทมีมากมาย ซึ่งหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดถึงปริมาณชั้นดีก็คือการวัดผลในช่วงเวลา 60 วินาทีที่พบว่ามีวิดีโอความยาวรวม 60 ชั่วโมงถูกอัพโหลดขึ้น Youtube ใน 60 วินาทีมีการค้นหา Google ถึง 700,000 ครั้ง และใน 60 วินาทีนี้ก็ยังมีอีเมลกว่า 168 ฉบับที่ถูกส่งหากัน ทำให้ข้อมูลข่าวสารส่วนใดส่วนหนึ่งของเรานั้นมีโอกาสสูญหายไปในถังขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่าอินเตอร์เน็ทนี้ได้ง่ายมากๆ
รับมืออย่างไร
วิธีการป้องกันข้อมูลแต่ละส่วนสูญหายนั้น สามารถทำได้โดยการจัดเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ทุกรูปแบบให้อยู่ที่เดียวกัน ทั้งวิดีโอ รูปภาพ หรือสื่ออื่นๆ ก็ควรจะถูกมัดรวมติดกันไปทั้งหมดเมื่อไปอยู่บนเว็บอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้ลูกค้าของเรานั้นสามารถรับข่าวสารทั้งหมดได้อย่างครบถ้วน เพราะถ้าหากแยกสื่อต่างๆ ไว้คนละที่เช่นการนำวิดีโอไปไว้บน Youtube อย่างเดียว เนื้อหาก็ไปไว้อีกเว็บนึงแล้ว จะทำให้ข้อมูลที่เราต้องการให้ลูกค้ารับรู้นั้นก็จะกระจัดกระจายจนสุดท้ายอาจไม่เข้าใจข่าวสารที่เราต้องการจะสื่อเลยก็ได้
• • •
พฤติกรรมคนที่ทุกครั้งเกิดความเปลี่ยนแปลงไป นั่นเป็นสัญญาณที่ทำให้ธุรกิจของเราต้องปรับตัวตาม เพราะเราคงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ถ้าหากวิถีชีวิตลูกค้าเปลี่ยนไปแต่เรายังคงทำการตลาดเหมือนเดิม ดังนั้นหมั่นติดตามพฤติกรรมของลูกค้าอยู่เสมอ เพื่อสร้างสินค้ามาตอบโจทย์พวกเขา พร้อมทั้งหาช่องทางสื่อสารใหม่กับลูกค้าอยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะรับการสื่อสารทางการตลาดได้ตรงจุดประสงค์ที่เราต้องการจะส่งให้อยู่ทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการตลาดที่ทำขึ้นมานั้นจะไม่สูญเปล่าอย่างแน่นอน
(Source : incquity)