สร้างแบรนด์ด้วยพนักงาน

            ในการสร้างแบรนด์หรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในโลกสังคมออนไลน์ เราสามารถทำได้หลายวิธี แต่มีกลยุทธ์หนึ่งที่ธุรกิจนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการใช้บุคคลโปรโมต บอกต่อหรือฝากประชาสัมพันธ์ ด้วยการโพสข้อความในเว็บไซต์สังคมออนไลน์ อาทิ เฟสบุค ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรม เป็นต้น เรามักจะได้ยินบุคคล 2 กลุ่มนี้

            กลุ่มที่หนึ่ง ผู้มีอิทธิพล (Influencer) ส่วนใหญ่ของผู้มีอิทธิพลจะเป็นคนดัง เป็นบุคคลที่มีหน้ามีตาในสังคมออนไลน์ โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ติดตามจำนวนมาก พวกนี้จะช่วยกระจายข้อความได้ในวงกว้าง คุณอาจจะต้องจ้างบุคคลเหล่านี้ให้ช่วยคุณสร้างแบรนด์หรือโปรโมตกิจกรรมการตลาดของคุณ

            กลุ่มที่สอง ผู้สนับสนุนหรือสาวก (Advocacy) โดยทั่วไปแล้ว พวกนี้จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือลูกค้าที่รักในแบรนด์ของคุณอยู่แล้ว พวกเขาจะเป็นกองเชียร์ที่ช่วยโปรโมตให้กับคุณได้เป็นอย่างดี โดยที่คุณไม่ต้องจ้างพวกเขาให้ช่วยคุณเลย

            ทำไมผู้สนับสนุนหรือสาวกเหล่านี้ถึงมีความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ของคุณ

  • พวกเขารักแบรนด์ของคุณอยู่แล้วพวกเขาจะช่วยบอกต่อด้วยความเต็มใจและเล่าถึงประสบการณ์ที่ดีต่อแบรนด์ของคุณได้
  • พวกเขามีความน่าเชื่อถือสูงๆ กว่าผู้มีอิทธิพลด้วยเนื่องจากสาวกเหล่านี้เป็นเพียงบุคคลธรรมดา พวกเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการช่วยโปรโมตในแบรนด์ที่พวกเขารัก ดังนั้น ผู้ที่ติดตามของสาวกเหล่านี้ก็จะเชื่อถือพวกเขาอย่างมาก
  • พวกเขาสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้ดีเนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ที่ดีต่อแบรนด์และเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ ดังนั้น พวกเขาสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการสนทนาได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้มีอิทธิพลไม่สามารถทำได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ของผู้มีอิทธิพลมาจากการว่าจ้างจึงไม่เข้าใจผลิตภันฑ์อย่างลึกซึ้ง

            อย่างไรก็ตามการได้มาซึ่งกองเชียร์หรือสาวกที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญ คุณไม่สามารถบังคับหรือคาดเดาความช่วยเหลือจากพวกเขาได้เลย ดังนั้น สาวกที่เป็นพนักงานของคุณเองจึงเป็นอาวุธลับที่มีความสำคัญ

            พนักงานของคุณจึงเป็นสาวกที่ดี ไม่แตกต่างไปจากสาวกที่เป็นลูกค้า พวกเขาสามารถช่วยคุณได้เช่นกัน การกระตุ้นพนักงานให้เป็นสาวกด้วยการให้ผลตอบแทนก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายบริษัทใช้กัน เช่น ใครสามารถโพสหรือทวีตแล้วมีผู้ชื่นชอบจำนวนมากก็จะได้รับผลตอบแทน เป็นต้น

            แล้วจะให้พนักงานเหล่านี้ โปรโมตอะไรบ้าง

กิจกรรมของบริษัท

            ถ้าคุณมีกิจกรรมของบริษัท เช่น การประชุมวิชาการ การประชุมตัวแทนขาย เป็นต้น คุณก็ให้พนักงานทุกคนช่วยโปรโมตกิจกรรมเหล่านี้ด้วยก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ คุณควรจะแยกลิงค์สำหรับโปรโมตกิจกรรมของพนักงานแต่ละคนให้แตกต่างกันด้วย เพื่อที่จะวัดประสิทธิภาพ ผลตอบแทนการลงทุนและความสามารถของพนักงานแต่ละคน

 

            คุณสามารถให้ผลตอบแทนกับพนักงาน โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนในงานประชุม เป็นต้น

เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่

            นอกจากการใช้สื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ (PR) ในการโปรโมตผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว บริษัทก็สามารถใช้พนักงานช่วยโปรโมตด้วยเช่นกัน ทีมการตลาดจะต้องประสานงานกับพนักงานทุกคนในการช่วยโปรโมตแต่ละครั้งด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ออกไปอยู่ในแนวทางเดียวกัน

            กรณีศึกษาของบริษัท อินเทล ที่ใช้สาวกที่เป็นพนักงาน ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้พนักงานโปรโมตผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ http://goo.gl/2JZsCd

กิจกรรมการตลาด
            สุดท้าย คุณสามารถให้พนักงานโปรโมตกิจกรรมการตลาดของคุณ เช่น แคมเปญโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษ กิจกรรมสัมมนา เป็นต้น คุณอาจจะให้พนักงานช่วยกระตุ้นกิจกรรมการตลาด โดยให้ผลตอบแทนตามจำนวนลูกค้าที่ซื้อสินค้าก็ได้

            หากคุณยังไม่เคยมีโครงการพนักงานโปรโมตหรือสร้างแบรนด์ให้คุณ คุณควรจะเริ่มได้ทันที โครงการนี้ไม่มีต้นทุนใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญ มันยังช่วยโปรโมตแบรนด์ของคุณได้เป็นอย่างดีด้วย ที่สำคัญ มันยังเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมภายในองค์กรด้วย

นาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

navik@sundae.co.th

เกี่ยวกับ คุณนาวิก นำเสียง

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด

คณะกรรมการ สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย (TMRS)

ผู้เชี่ยวชาญในการตลาดออนไลน์และการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) โดยเป็นที่ปรึกษาและวิทยากรบรรยายให้กับหน่วยงานต่างๆ

อดีตเป็นบุกเบิกธุรกิจออนไลน์ในยุคแรก เป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ยำใหญ่ (YumYai.com) และผู้บริหารเว็บไซต์ต่างๆ

ติดตามคุณนาวิกได้ที่ Twitter.com/navikn

(Source : คุณนาวิก นำเสียง)